ฝ้าแดด คืออะไร เกิดจากอะไร ? พร้อมวิธีรักษาให้รอยฝ้าลดเลือนลง

ฝ้าแดด

ฝ้าแดด

ปัญหา ฝ้าแดด สร้างความหนักใจให้กับผู้หญิง และผู้ชายไทยเป็นอย่างมากครับ เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะหลีกเลี่ยงการไม่เจอแสงแดดในระหว่างวัน รังสี UVA จากแสงแดด จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หน้าเป็นฝ้าแดด ส่งผลให้ผิวหน้าไม่กระจ่างใส ผิวถูกทำลาย ผิวหมองคล้ำ

ในบทความนี้หมอจะสรุปให้ได้อ่านกันว่า ฝ้าแดด คืออะไร ลักษณะของฝ้าแดดเป็นแบบไหน เกิดจากอะไร มีวิธีรักษาฝ้าแดดอย่างไรบ้าง ติดตามกันได้ผ่านบทความนี้ครับ

คลิกอ่านหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับฝ้าแดด

  1. ฝ้าแดด คืออะไร ?
  2. ฝ้าแดด เกิดจากอะไร ?
  3. ฝ้าแดด มีทั้งหมดกี่ชนิด ?
  4. ลักษณะของฝ้าแดด
  5. วิธีรักษาฝ้าแดด ต้องทำอย่างไร ?
  6. วิธีป้องกันการเกิดฝ้าแดด
  7. ฝ้าแดด กับ ฝ้าเลือด แตกต่างกันอย่างไร ?
  8. ฝ้าแดด รักษาให้หายขาดได้ไหม ?
  9. สรุปเรื่องหน้าเป็นฝ้าแดด

ฝ้าแดด คืออะไร ?

ฝ้าแดด คือ ฝ้าประเภทหนึ่งที่มีสาเหตุหลักมาจากแสงแดด รังสี UV รวมถึงแสง HEVIS (High Energy Visible Light) ซึ่งเป็นแสงที่เกิดจากหลอดไฟ แสงจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แสงจากโทรศัพท์

โดยแสงเหล่านี้จะกระตุ้นการผลิตเม็ดสีเมลานินในเซลล์ใต้ผิวหนัง ให้ผลิตเม็ดสีออกมามากกว่าปกติ ทำให้สีผิวดูเข้ม และกลายเป็นฝ้าแดดที่บริเวณต่าง ๆ เช่น

  • ฝ้าแดดที่หน้า
  • ฝ้าแดดที่แขน
  • ฝ้าแดดที่โหนกแก้ม
  • ฝ้าแดดที่หน้าผาก
  • ฝ้าแดดที่คาง
  • ฝ้าแดดที่บริเวณเหนือริมฝีปาก

ฝ้าแดด เกิดจากอะไร ?

สาเหตุหลักของการเกิดฝ้าแดด มักมาจากรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด และแสงไฟที่มาจากหลอดไฟ แสงหน้าจอโทรศัพท์ แสงหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

เมื่อผิวเราได้รับแสงเหล่านี้ เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ที่มีหน้าที่กรองรังสี UV ก็จะผลิตเม็ดสีออกมามากขึ้นตามไปด้วย  ส่งผลให้สีผิวไม่สม่ำเสมอจนกลายเป็นฝ้าแดด

โดยชนิดของรังสี UV ที่เป็นตัวการสำคัญของการเกิดฝ้าแดด คือ ‘รังสี UVA’ ซึ่งมีคุณสมบัติที่สามารถทะลุวัตถุได้ มีคลื่นความยาวมากกว่ารังสี UVB ทำให้รังสี UVA ทำลายชั้นผิวของเราได้ลึกกว่าครับ หากไม่มีการปกป้องผิวที่ดีพอ ผิวเราก็มีแนวโน้มที่จะเกิดฝ้าแดดตามมาได้ในอนาคต

คลิกอ่านเพิ่มเติม : รังสี UVA และ UVB คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? อันตรายกับผิวมากกว่าที่คิด

หน้าเป็นฝ้าแดด
หน้าเป็นฝ้าแดด ที่เกิดจากรังสี UV

ฝ้าแดด มีทั้งหมดกี่ชนิด ?

ชนิดฝ้าแดด แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้ครับ

ฝ้าแดดตื้น

ฝ้าแดดตื้น มีรอยขอบฝ้าชัดเจน มักจะมีสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ เกิดจากการผลิตเม็ดสีเมลานินจำนวนมากเกินไปที่บริเวณชั้นผิวหนังกำพร้า ฝ้าแดดลักษณะนี้มักจะใช้เวลารักษาไม่นาน และเกิดขึ้นได้บ่อยครับ

ฝ้าแดดลึก

ฝ้าแดดลึก มักพบในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการผลิตเม็ดสีเมลานินที่มากเกินไปบริเวณชั้นผิวหนังแท้ ฝ้าแดดลักษณะนี้หากเป็นแล้วจะรักษาได้ค่อนข้างยาก และใช้เวลาฟื้นฟูนานกว่าจะหายครับ


ลักษณะของฝ้าแดด

ลักษณะฝ้าแดด คือ ฝ้าแดดจะมีรอยสีน้ำตาล สีแดง สีเทาอมม่วง ไปจนถึงสีดำ มีโอกาสที่ฝ้าแดดจะมีสีเข้มเพิ่มขึ้น จากการที่ผิวโดนแสงแดดมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงการปกป้องผิวไม่ดีพอ ฝ้าแดดก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นบริเวณผิวเพิ่มขึ้นได้เช่นกันครับ

ลักษณะของฝ้าแดด
ลักษณะของฝ้าแดด จะมีรอยสีน้ำตาล สีแดง สีเทาอมม่วง ไปจนถึงสีดำ

วิธีรักษาฝ้าแดด ต้องทำอย่างไร ?

การรักษาแก้ฝ้าแดด จำเป็นต้องใช้เวลาครับ วิธีรักษาฝ้าแดดที่หมอจะแนะนำต่อไปนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาฝ้าแดดแบบเร่งด่วน ไม่มีวิธีรักษาแบบธรรมชาติด้วยสมุนไพรครับ

1. หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัด

การหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัดระหว่างวัน ในช่วงเวลา 09.00 น. – 16.00 น. จะช่วยป้องกันการเกิดฝ้าแดดได้ครับ เพราะแสงแดดในช่วงเวลาดังกล่าว มีความเข้มข้นของรังสี UV สูงมาก หากเราปกป้องผิวไม่ดีพอ ในระยะยาวก็มีโอกาสที่จะเกิดฝ้าแดดได้เช่นกัน

2. ทาครีมกันแดดเป็นประจำ

แม้ว่าจะเป็นฝ้าแดด เราก็ยังต้องทาครีมกันแดดผิวหน้าและผิวกาย เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอครับ เพื่อป้องกันการเกิดฝ้าแดดที่บริเวณอื่น ๆ รวมถึงยังช่วยลดเลือนการเกิดฝ้าแดดที่บริเวณเดิม ไม่ให้มีสีเข้มขึ้นอีกด้วยครับ

โดยควรเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF และ ค่า PA ให้เหมาะกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ไม่จำเป็นต้องเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF และ PA สูงเสมอไป

คลิกอ่านเพิ่มเติม : 10 ข้อดี ประโยชน์ครีมกันแดด มีอะไรบ้าง สำคัญต่อผิวหน้า-ผิวกายอย่างไร ?

ครีมกันแดดผิวหน้า ลดโอกาสเกิดฝ้า

DR. V SQUARE UV ABC SUNSCREEN CREAMSPF40 PA+++

DR. V SQUARE Sunscreen Cream

ครีมกันแดดผิวหน้า Dr. V Square UV ABC Sunscreen Cream กันแดดเนื้อ Hybrid ที่ผสมผสานสารกันแดดอย่างลงตัว ตามมาตรฐานเยอรมัน ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UVA UVB แสงสีฟ้า (Blue light) และรังสีอินฟราเรดได้อย่างครอบคลุม ผลิตภัณฑ์ Dr. V Square ยังเหมาะกับทุกสภาพผิว ผิวบอบบางใช้ได้ เนื้อสัมผัสบางเบา เกลี่ยง่าย แห้งซึมไว้ พร้อมช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นไปในตัว

3. ใช้ผลิตภัณฑ์ลดเลือนฝ้า

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ลดเลือนฝ้าหลากหลายแบรนด์ ให้เลือกใช้มากมายครับ โดยเราควรเลือกผลิตภัณฑ์ลดเลือนฝ้าที่มีสาร Whitening เช่น วิตามิน C, Arbutin, AHA ฯลฯ เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยปรับสภาพผิวให้กระจ่างใส

ซึ่งจะช่วยลดเลือดฝ้า กระแดด และจุดด่างดำ ให้ค่อย ๆ ลดเลือนลง แต่การรักษาฝ้าด้วยวิธีนี้จะเห็นผลค่อนข้างช้า จำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งครับ

4. ใช้ยาทารักษาฝ้า

กลุ่มยาที่ใช้ทารักษาฝ้าแดด เช่น 

  • กลุ่มกรดวิตามินเอ หรือ เรตินอยด์ (Topical Retinoids/Retinoic Acid)
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
  • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
  • กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) 
  • กรดโคจิก (Kojic Acid)

โดยการใช้ยาทารักษาฝ้าแดด จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นครับ ไม่ควรซื้อยาทารักษาฝ้าแดดมาใช้เองเด็ดขาด เพราะยารักษาฝ้าแดด จะมีฤทธิ์กรดสูง เพื่อใช้ผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง หรือมีผลค้างเคียงกับผิวได้

ฉะนั้นแล้วหมอแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทารักษาฝ้าแดดครับ

ทำเลเซอร์ลดฝ้าแดด
การทำเลเซอร์ช่วยลดฝ้าแดด โดยใช้พลังงานความร้อน

5. ทำเลเซอร์ลดฝ้า

การทำเลเซอร์ลดฝ้าแดด จะเป็นการยิงเลเซอร์เพื่อปรับสภาพผิว และรักษาความผิดปกติของสีผิว โดยใช้พลังงานความร้อน กำจัดเม็ดสีเมลานินบริเวณผิวหนังของเรา

ซึ่งจะกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิวให้ไวขึ้น แต่อาจต้องแลกมากับการที่ผิวบริเวณดังกล่าวจะบางลง รู้สึกไวต่อแสงได้ง่ายขึ้น และยังเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง หากจะให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น จำเป็นต้องทำเลเซอร์ลดฝ้าต่อเนื่องติดต่อกัน

6. ลอกผิวรักษาฝ้า

การรักษาฝ้าแดดด้วยการลอกผิว ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นครับ เพราะจะเป็นการรักษาด้วยการใช้กรดหรือสารเคมี เพื่อทำให้ฝ้าจางลง แต่หากใช้ปริมาณกรดหรือสารเคมีเยอะเกินไป ก็จะส่งผลให้ชั้นผิวของเราเกิดเป็นแผลถาวรขึ้นมาได้ และอาจทำให้ผิวบอบบางลง ผิวแห้ง และมีความไวต่อแสงเพิ่มขึ้น

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดฝ้าแดด
สามารถป้องกันหน้าเป็นฝ้าแดด ได้ด้วยตัวเอง

วิธีป้องกันการเกิดฝ้าแดด

แนวทางป้องกันการเกิดฝ้าแดด สามารถทำตามได้หลายวิธี ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเจอแสงแดด ช่วงเวลา 09.00 น. – 16.00 น. เพราะแสงยูวีมีความเข้มข้นสูง
  • สวมใส่อุปกรณ์กันแดด เช่น กางร่ม แว่นกันแดด เสื้อกันยูวี เพื่อป้องกันรังสี UVA จากแสงแดด
  • ทาครีมกันแดดหน้าและตัว อย่างน้อย 15-30 นาที ไม่ว่าจะอยู่ในร่ม หรือทำกิจกรรมนอกบ้าน ก็ควรทากันแดดเป็นประจำ และควรหมั่นเติมกันแดดระหว่างวันซ้ำทุก 2 ชั่วโมง
  • ทาครีมบำรุงผิวหน้าเป็นประจำ เพื่อเสริมเกราะป้องกันผิว ทำให้ผิวแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงกลุ่มยา หรือฮอร์โมน ที่ทำให้เกิดฝ้า เช่น ยาคุมกำเนิด โดยควรใช้ยาชนิดต่าง ๆ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอครับ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารหรือผลไม้ที่สารต้านอนุมูลอิสระ อย่างส้ม มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ฯลฯ
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพราะการนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้ไม่ค่อยดี ส่งผลให้เมลานินเกิดความผิดปกติ ทำให้มีรอยฝ้า กระ ชัดมากยิ่งขึ้นครับ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : วิธีทากันแดดที่ถูกต้อง สำหรับผิวหน้า – ผิวกาย ให้ผิวสวยห่างไกลจากแสงแดด


ฝ้าแดด กับ ฝ้าเลือด แตกต่างกันอย่างไร ?

ฝ้าเเดด-ฝ้าเลือด
เปรียบเทียบความแตกต่าง ระหว่างฝ้าแดด และ ฝ้าเลือด

ฝ้าแดด มีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาลคล้ำ สีดำ สีแดง สีเทาอมม่วง โดยสาเหตุหลักของการเกิดฝ้าแดดจะมาจากรังสี UVA ในแสงแดดเป็นหลัก

ฝ้าเลือด มีลักษณะเป็นรอยคล้ายเส้นเลือด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน ทำให้เส้นเลือดฝอยบนผิวหน้าทำงานผิดปกติ เช่น เส้นเลือดฝอยแตก เส้นเลือดฝอยกระจุกตัวที่ตำแหน่งเดียว


ฝ้าแดด รักษาให้หายขาดได้ไหม ?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนรักษาฝ้าแดดให้หายขาดถาวรได้ครับ

แต่สามารถรักษาฝ้าแดดให้ลดเลือนหรือจางลงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทำเลเซอร์ การกรอผิวด้วยอัญมณี การทาครีมลดฝ้า การใช้ยาทารักษาฝ้าแดด การลอกผิวรักษาฝ้าแดด เพราะตราบใดที่ผิวเรายังต้องเผชิญแสงแดดอยู่ ย่อมมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นฝ้าแดดได้ทุกเมื่อ


สรุปเรื่องหน้าเป็นฝ้าแดด

การเกิดฝ้าแดด เกิดขึ้นได้ในเพศหญิงและชาย ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดฝ้าแดดจะมาจากรังสี UVA ในแสงแดด แม้ว่าการรักษาฝ้าแดดให้หายขาด 100% จะยังไม่มีวิธีที่แน่ชัด แต่เราสามารถปกป้องผิวจากแสงแดด เพื่อลดโอกาสการเกิดฝ้าแดดได้

อย่างน้อยเริ่มต้นที่การทาครีมกันแดดเป็นประจำ ทากันแดดซ้ำระหว่างวัน หลีกเลี่ยงการเจอแสงแดดจัด รวมถึงการสวมใส่อุปกรณ์กันแดด เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดโอกาสการเกิดฝ้าแดดในอนาคตได้แล้วครับ